การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight)

 

 

ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การได้ แต่บริษัทจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกในการคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต บริษัท McKinsey ได้ทำการสำรวจและเปิดเผยถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความล้มเหลวของบริษัทซึ่งได้แก่ การขาดวิสัยทัศน์ (Lack of Visioning) และการมุ่งเน้นผลงานที่ใกล้เกินไปของผู้บริหาร (Short-Termism) ทั้งนี้ บริษัท McKinsey ระบุว่าบริษัทที่มีการมองการไกลหรือมีการวางแผนอนาคตที่ดี (Visioning) จะมีผลประกอบการที่ดีมากกว่าบริษัทที่มองใกล้มากกว่าถึง 47% (McKinsey, 2017)

 

ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสภาพแวดล้อมภายนอก บริษัทจำเป็นที่จะต้องศึกษาและติดตามแนวโน้ม (Trends) ในเรื่องต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบริษัท อีกทั้งยังอาจจะทำลาย (Disrupt) รูปแบบในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทได้

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะต้องเป็นการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) ซึ่งประกอบไปด้วย การวิจัย (Research) การมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data) และการมีสัญชาติญาณที่ถูกต้อง (Intuition) ทั้งนี้ การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์มีความแตกต่างจากการพยากรณ์ (Forecast)

 

เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว บริษัทจะพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตโดยใช้ข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาใช้เพื่อการพยากรณ์และตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นการพยากรณ์แบบเส้นตรง (Linear) และไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ไม่ได้มุ่งเน้นถึงการใช้ข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่มุ่งเน้นถึงการติดตามและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมุ่งเน้นการติดตามข้อมูลข่าวสาร และแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่แนวโน้มที่อาจจะเพิ่งเริ่มก่อตัว (Weak Signal) แต่มีสัญญาณบ่งบอกว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจจะมีความน่าสนใจและเป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลกในอนาคต

 

ยกตัวอย่างเช่น การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจของหลายอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นของโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือแม้แต่เรื่องข้อมูลระดับใหญ่ (Big Data) นอกจากนี้ การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์จะช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนองค์การ รูปแบบในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองและสอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้

 

ทั้งนี้ การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นถึงการวิเคราะห์แนวโน้มต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นถึงการพยายามเป็นผู้คิดค้นริเริ่ม และสร้างแนวโน้มใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น (Trend Setter) โดยไม่ต้องรอเป็นผู้ตามแนวโน้ม (Trend Follower) แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

 

 

กรอบแนวคิดการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Natural Foresight Framework) ประกอบไปด้วย

 

– การสร้างกรอบ (Framing) เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ และกรอบในอนาคตที่ต้องการจะวิเคราะห์และคาดการณ์

– การสำรวจ (Scanning) ข้อมูล (Data) แนวโน้ม (Trends) และสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอ่อนๆ (Weak Signal)

– การพยากรณ์ (Forecasting) โดยการกำหนดสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Scenario Construction Method) 

– การกำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคต (Visioning) 
– การวางแผน (Planning)
– การปฏิบัติ (Action)

Read more