ความรวดเร็วเชิงกลยุทธ์ (Strategic Agility)

 

ถ้าต้องพูดถึงหัวข้อทางกลยุทธ์ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้นหัวข้อ “ความรวดเร็วเชิงกลยุทธ์" (Strategic Agility) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโรค Covid19 ซึ่งการระบาดของโรคส่งผลให้หลายประเทศในทุกภูมิภาคในโลก จำเป็นต้องประกาศปิดประเทศเป็นการชั่วคราว ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในทุกอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีการคาดการณ์สถานการณ์ (Foresight) ที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า และได้มีการวางแผนกลยุทธ์เตรียมไว้ก่อน ย่อมได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่ต้องสงสัย และนอกเหนือจากการวางแผนการล่วงหน้าซึ่งถือเป็นการดำเนินธุรกิจแบบ Pro Active แล้ว บริษัทยังจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็ว เพราะจะช่วยทำให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไร หรือแม้แต่ในช่วงเวลาวิกฤติ บริษัทก็ยังจะสามารถผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายไปได้โดยมีการสูญเสียหรือขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นถือเป็นการดำเนินธุรกิจแบบ Re Active

 

ทั้งนี้ ผมขอแนะนำ Agile Strategy Management Cycle ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดของ Dan Montgomery ผู้เขียนหนังสือ Start Less Finish More โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีกลยุทธ์ครับ

 

1. Assess : ทำการประเมินสถานการณ์ภายนอก ว่ามีอะไรที่ทำแล้วดี มีความน่าสนใจ หาสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่องการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะพิจารณาจากแนวโน้ม (Trend) ด้านต่างๆ ที่น่าสนใจ 

 

2. Focus : เลือกสิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่เรามีความได้เปรียบในการแข่งขัน วางกลยุทธ์ และนำสิ่งนั้นมาต่อยอดหรือปฏิบัติ

 

3. Commit : ตั้งใจค้นหาวิธีที่จะทำให้เราดำเนินการทำสิ่งดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ 

 

4. Act : นำหลักการและแนวคิด OKRs มาใช้เพื่อการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์

 

5. Learn : ติดตามผลและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและแก้ไขข้อผิดพลาด

 

 

การกำหนดเป้าหมายและประเมินผล โดยวิธีวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ (Objectives and Key Results: OKR)

 

วิธีการกำหนดเป้าหมายและประเมินผลโดย OKR เริ่มต้นด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ประมาณ 3-5 วัตถุประสงค์ โดยวัตถุประสงค์ที่กำหนด จะต้องมีความท้าทายความสามารถของบุคลากร ทั้งนี้ แต่ละวัตถุประสงค์จะมีผลลัพธ์สำคัญได้ประมาณ 3-4 ประเด็น และผลลัพธ์ดังกล่าว จะต้องเป็นผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้จริง

 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอาจมีการกำหนดวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ดังนี้

 

วัตถุประสงค์ที่ 1 คือ การเพิ่มการกำไรให้ได้ 5% ในไตรมาสที่ 2 และกำหนดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์คือ

 

1) ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น 15%

 

2) ลดต้นทุนให้ได้ 10% และ

 

3) เพิ่มลูกค้าใหม่ให้ได้ 10%  

 

วัตถุประสงค์ที่ 2 คือ การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มากขึ้น และกำหนดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์คือ

 

1) จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์กับลูกค้าให้สำเร็จ 5 โครงการต่อไตรมาส

 

2) ลดปริมาณข้อร้องเรียนลงให้ได้ 20% และ

 

3) จัดฝึกอบรมเรื่องการบริการที่เป็นเลิศให้กับพนักงานในแต่ละฝ่ายให้ได้อย่างน้อย 2 ฝ่ายต่อไตรมาส

 

สิ่งสำคัญประการสุดท้ายคือ ควรกำหนดระยะเวลาในการบรรลุผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ในแต่ละครั้ง ไม่ให้นานจนเกินไปเช่น ไม่เกิน 1-2 ไตรมาส เพราะการกำหนดระยะเวลาในการประเมินที่สั้น จะช่วยทำให้บริษัทสามารถประเมินผลการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

Read more